วันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ผลงานจำนวนมากของนักมานุษยวิทยาก็ช่วยสนับสนุนข้อมูลข้างต้นด้วยว่า มนุษย์เชื่อในอิทธิพลของดนตรีมานานแล้ว เพราะ พิธีกรรมบำบัด (Healing Rituals) ของชนเผ่าต่าง ๆ ส่วนมากมีดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ข้อที่แตกต่างกันนั้นคือ ดนตรีบำบัดแผนใหม่ เป็นวิทยาศาสตร์ในขณะที่พิธีกรรมบำบัดเป็นไสยศาสตร์ แต่ข้อที่เหมือนกันคือ ดนตรีที่ใช้ในพิธีกรรม หรือในคลินิก ก็ตาม จะต้องผ่านการพิจารณาเลือกเฟ้นแล้วว่าเหมาะสมกับผู้ป่วย
การที่พ่อมด หรือหมอผี ผู้ประกอบพิธีกรรมบำบัด เป็นทั้งหมอ และสื่อกลางสำหรับติดต่อกับเทพสถานภาพในสังคม คนเหล่านี้จึงสุงกว่าชาวบ้านทั่วไป ผลที่ติดตามมาคือดนตรีหรือเพลงที่ใช้ในพิธีกรรมพลอยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย
ดนตรีชาวฮินดู เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเรื่องนี้ บันไดเสียงหรือ ราค (Raga) แต่ละชนิดจะมี กาละ และเทศะ กำกับไว้อย่างเคร่งครัด ละเมิดไม่ได้ เพราะดนตรีของเขาเป็นของที่ได้รับมาจากสวรรค์ กฎเกณฑ์เหล่านี้ตกทอดมาถึงดนตรีไทยด้วย ดังเช่นที่อยู่ในการใช้เพลงหน้าพาทย์ทั้งหลาย เป็นต้น
ธรรมชาติของการฟังดนตรี
ดนตรีเป็นศิลปะที่เสียเปรียบศิลปะแขนงอื่น ๆ ตรงที่ดนตรีเป็นเรื่องของการฟัง สื่อกันทางหู ความไพเราะของดนตรี ใช้โสตประสาทในการรับรู้ดนตรีแล้วส่งไปยังจิตสำนึก หรือ จิตใต้สำนึก การพูดหรือการเขียนถึงดนตรีนั้น อาศัยอวัยวะรู้อื่น ๆ เช่น ตา หรือการสัมผัสซึ่งเป็นเพียงส่วนประกอบย่อย ๆ เท่านั้น ไม่สามารถเข้าถึงดนตรีได้ ถ้าปราศจากหู แต่อวัยวะส่วนอื่นจะได้รับผลประโยชน์ เป็นผลพลอยได้จากดนตรีด้วย
ด้วยเหตุที่หูของคนเราเปิดอยู่ตลอดเวลา หูไม่สามารถเลือกฟังเองได้ จิตต่างหากที่จะทำหน้าที่กลั่นกรองเสียงที่ได้ยินว่า พอใจ หรือไม่พอใจต่อเสียงใด ความพอใจต่อเสียงของจิตที่ได้ยินจากหูเป็นความไพเราะทั้งที่เป็นดนตรีและไม่เป็นดนตรี แต่ความสดใสไพเราะที่เป็นดนตรีนั้นเป็นศิลปะที่อาศัยความสะอาดของจิตเป็นพื้นฐาน ขณะเดียวกัน เสียงที่ไม่ไพเราะจิตจะไม่พอใจ เสียงเหล่านั้นเป็นเสียงสร้างความรำคาญ และความไม่พอใจของจิต ความรำคาญสืบเนื่องมาจากเสียงขาดศิลปะในการปรุงแต่งให้สวดสดงดงาม ขาดคุณสมบัติในการสร้างความเพลิดเพลิน
อย่างไรก็ตาม พอมีหลักการในการฟังดนตรีอยู่บ้าง ที่สามารถเรียนรู้ด้วยอวัยวะส่วนอื่นที่นอกไปจากหู แต่หลักการเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางในการฟังเท่านั้น ความไพเราะจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังจริง ๆ ทางหูโดยตรง
เราจะเริ่มต้นฟังดนตรีกันอย่างไร ถ้าเราจะจัดลำดับก่อนหลังในการรับรสความไพเราะโดยอาศัยดุริยางควิทยาแล้ว ก็พอจะจัดลำดับของการฟังได้ดังนี้ คือ ฟังเสียง ฟังจังหวะ ฟังทำนอง ฟังเนื้อร้อง ฟังการเรียบเรียงเสียงประสาน ฟังสีสันแห่งเสียง ฟังรูปแบบของคีตลักษณ์ ฟังอย่างวิเคราะห์ และฟังเพื่อประโยชน์ของชีวิต

ไม่มีความคิดเห็น: